ผู้ว่าฯซีอีโอสอบผ่าน75จังหวัด 10พ่อเมืองเยี่ยม-5จว.เหนือเจ๋ง
[ 2004-10-01 ]

ก.พ.ร.ประเมินผลผู้ว่าฯซีอีโอ สอบผ่านทั้ง 75 จังหวัด เผยโฉม 10 ท็อปเท็นพ่อเมืองผลงานดีเยี่ยม 10 อันดับกลุ่มคลัสเตอร์โดดเด่น กลุ่มภาคกลางตอนบนแชมป์ ตามด้วยอีสานล่าง-บน เหนือตอนบน มี 8 กลุ่มผลงานเรียบๆ แฉบางคนฝีมือเข้าขั้นกลับโดนเด้ง

หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ระบบบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ(ซีอีโอ) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด 19 กลุ่ม เพื่อลงนามในคำรับรองการปฏิบัติราชการกับรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลพื้นที่ นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ได้รวบรวมและประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ว่าฯซีอีโอ เสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้วโดยทุกจังหวัดสอบผ่านจากเกณฑ์การประเมินผลเบื้องต้น จากนั้นในวันที่ 2 ตุลาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอทุกคนจะเปิดแถลงผลงานของตัวเองที่ศาลากลางจังหวัดทั้ง 75 แห่ง

การจัดอันดับผู้ว่าฯซีอีโอ ที่สามารถผลักดันยุทธศาสตร์จังหวัดให้ประสบความสำเร็จดีเยี่ยมอย่างน้อย 1 โครงการ จากการรวบรวมโดย ก.พ.ร. โดยวัดจากผลงานจังหวัดที่โดดเด่นเป็นหลัก ตามมาด้วยการวัดจากผลงานธรรมดา และสุดท้ายวัดจากการอยู่ในกลุ่มจังหวัด(คลัสเตอร์) โดดเด่น 5 อันดับต้น เช่น จ.ชัยภูมิ มีผลงานโดดเด่น 3 โครงการ จากจำนวนผลงานทั้งหมด 3 โครงการ เป็นต้น ผลปรากฏว่า 10 อันดับ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด(ผลงานโดดเด่น/จำนวนผลงานทั้งหมด) ได้แก่

1.นายธวัช สุวุฒิกุล ผู้ว่าฯชัยภูมิ (3/3) 2.นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ผู้ว่าฯนครสวรรค์ (2/3) 3.นายวิจิตร วิชัยสาร ผู้ว่าฯปทุมธานี (2/5) 4.นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ (1/5) 5.นายสุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล ผู้ว่าฯน่าน (1/5) 6.นายสมศักดิ์ บุญเปลื้อง ผู้ว่าฯแพร่ (1/5) 7.นายอำนวย สงวนนาม ผู้ว่าฯกระบี่ (1/5) 8.นายวิทย์ ลิมานนท์วราไชย ผู้ว่าฯมหาสารคาม (1/3) 9.นายนรินทร์ พานิชกิจ ผู้ว่าฯเชียงราย (1/3) 10.นายธวัช เสถียรนาม ผู้ว่าฯลำพูน (1/3)

อันดับถัดๆ มา ได้แก่ นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน (1/3), นายบวร รัตนประสิทธิ์ ผู้ว่าฯพะเยา (1/3), นายสุนทร ริ้วเหลือง ผู้ว่าฯนครราชสีมา (1/3), นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ผู้ว่าฯตราด (1/3),
นายวิทยา ปิณฑะแพทย์ ผู้ว่าฯจันทบุรี (1/2), นายสมัชชา โพธิ์ถาวร ผู้ว่าฯพังงา (1/2), นายประสงค์ พิทูรกิจจา ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์ (1/1), นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าฯลำปาง (1/1), นายวิจารณ์ ไชยนันทน์ ผู้ว่าฯระยอง (1/1)

เมื่อมาดูในกลุ่มจังหวัด ปรากฏว่า ทุกกลุ่มผ่านสอบตามเกณฑ์ความเข้าใจต่อระบบผู้ว่าฯซีอีโอ ทุกกลุ่มมีเนื้องานออกมา แต่ความโดดเด่นของเนื้องานแตกต่างกันไปตามฝีไม้ลายมือของผู้ว่าฯและทีมงานแต่ละจังหวัดและแต่ละกลุ่ม ฉะนั้น การจัดอันดับกลุ่มจังหวัดโดดเด่น จึงวัดจากกลุ่มที่มีผลงานโดดเด่นหลายโครงการ ประกอบกับการวัดผลงานโดดเด่นของจังหวัดในกลุ่มนั้นๆ

10 อันดับกลุ่มจังหวัด(คลัสเตอร์) ที่มีผลงานทั้งระดับกลุ่มโดดเด่น โดยวัดจากผลงานกลุ่มเป็นหลัก วัดผลงานระดับจังหวัดที่โดดเด่นเป็นรอง(ผลงานกลุ่ม/ผลงานจังหวัด) ได้แก่

1.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี (3/0)

2.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม (2/1)

3.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร (2/0)

4.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน (0/8)

5.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง(1) ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ (0/4)

6.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด (0/3)

7.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง(2) ได้แก่ กระบี่ พังงา ภูเก็ต (0/2)

8.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี (0/2)

9.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน(1) ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง (0/2)

10.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง(2) ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร (0/1)

สำหรับ 9 อันดับกลุ่มจังหวัดที่มีผลงานระดับกลุ่ม และระดับจังหวัดไม่โดดเด่นทั้งสองส่วน จึงจัดอันดับตามปริมาณผลงานกลุ่มเป็นหลัก และผลงานเฉพาะจังหวัดเป็นรอง(ผลงานกลุ่ม/ผลงานจังหวัด) ได้แก่

1.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน(2) ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ (30/5)

2.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง(2) ได้แก่ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี (2/14)

3.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย (2/9)

4.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง(1) ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ (3/7)

5.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน(1) ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส (3/6)

6.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน(2) ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท (2/4)

7.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน(1) ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง (2/3)

8.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี (1/3)

9.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง(2) ได้แก่ สงขลา สตูล (2/2)

ทางด้านผลงานโดดเด่นของกลุ่มจังหวัด ได้แก่ 1.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ผลงานที่โดดเด่นคือการพัฒนาภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียใต้ 2.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน มีความโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะใน จ.อยุธยา 3.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างสามารถจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการศึกษาและประสานการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตอาหารปลอดภัยตามระบบเกษตรที่ดี และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในกลุ่มจังหวัดได้ด้วย

4.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีผลงานโดดเด่นคือการส่งเสริมและผลักดันให้มีการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมามูลค่าการค้าชายแดนสูงกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่า 5.17 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังพัฒนาการเกษตรด้วยการปลูกข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษได้ 10,180 ไร่ จากเดิมที่ไม่มีการปลูก และขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้อีกร้อยละ 16 และ 5.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ผลักดันโครงการอีสาน ซอฟต์แวร์ ปาร์ก( E-saan Software park) เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ในภูมิภาคและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีการผลิตและจำหน่ายข้าวหอมมะลิชั้นดีออกสู่ตลาดโลก ทำให้มีผลผลิตคิดเป็นมูลค่า 3.17 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยได้เสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงครั้งใหญ่ โดยในจำนวนนี้มีผู้ว่าฯซีอีโอที่มีผลงานโดดเด่นหลายคนถูกย้ายออกจากจังหวัดด้วย อาทิ นายวิทยา ปิณฑแพทย์ ผู้ว่าฯจันทบุรี ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ผู้ว่าฯตราด ย้ายไปเป็นผู้ว่าฯจันทบุรี และการโยกสลับจังหวัดระหว่างประสงค์ พิทูรกิจจา ผู้ว่าฯประจวบฯ กับนายกิตติพงษ์ สุนานันท์ ผู้ว่าฯเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งข้าราชการในส่วนอื่นๆ ของกระทรวงมหาดไทยไปเป็นผู้ว่าในหลายจังหวัด อาทิ นายพนัส แก้วลาย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯตราด ขณะที่ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การปกครอง วุฒิสภา นายสุพร สุภสร ส.ว.อุดรธานี และนายวิชัย ครองยุติ ส.ว.อุบลราชธานี ฯลฯ ร่วมกันแถลงที่รัฐสภาว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยเข้าสู่ยุคทมิฬ การโยกย้ายแต่งตั้งถือว่าตกต่ำที่สุด ระบบที่เคยใช้คือ การพิจารณาตามความรู้ความสามารถได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นระบบใหม่ จะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง "การอ้างว่าใช้หลักความเหมาะสม พูดไปก็เหม็นขี้ฟันเปล่าๆ คำว่าเหมาะสมใครก็พูดได้ทั้งนั้น แต่เป็นการเหมาะสมเพื่อตัวเองหรือไม่ และถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก หากมหาดไทยไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ รับฟังแต่ฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียว บ้านเมืองก็เจ๊ง การแต่งตั้งโยกย้ายไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ เช่น การย้ายรองปลัดเป็นผู้ตรวจฯ และมีการแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ ให้เป็นผู้ว่าฯ แต่ยังไม่ทันรับตำแหน่งก็ให้ย้ายกลับมาเป็นผู้ตรวจฯ โกหกไปวันๆ" นายสุพรกล่าว นายวิชัยกล่าวว่า คณะกรรมาธิการจะเชิญรัฐมนตรีมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าว และหากไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจน จะตั้งกระทู้ถามในวุฒิสภาและอาจถึงขั้นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติก็ได้ 
 

แหล่งที่มาจาก :    นสพ. กรุงเทพธุรกิจ